“Work From Home” ถ้าจะบอกว่าไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินคำนี้คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่คนทั้งโลกต้องเผชิญ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารงาน รวมถึงวิธีการทำงานของบุคลากรในหน่วยงานหรือองค์กรของตนเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
การที่เราต้องหยุดอยู่บ้าน ทำงานจากที่บ้าน ส่งผลให้กิจกรรมทางกายเราน้อยลง ที่แต่ก่อนเรายังได้เดินทาง ได้ออกไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนร่วมงาน เลิกงานยังได้ออกไปเดินห้าง ไปซื้อของ ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา
ร่างกาย และจิตใจ เป็นสิ่งที่ได้ผลกระทบพอๆ กัน
ร่างกายไม่ได้ขยับ ไม่ได้เคลื่อนไหวเหมือนแต่ก่อน ไม่ใช่เรื่องที่ดี
จิตใจ ที่ต้องเจอสภาพการทำงานที่เปลี่ยนไป อยู่หน้าจอมากขึ้น อยู่แต่บ้านไม่ได้ออกไปไหน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้เวลาวางแผนและปรับตัวไม่นาน บริหารจัดการชีวิตวิถีใหม่ได้ค่อนข้างเร็ว กลุ่มสองคือคนที่อาจจะรู้สึกว่าชีวิตวุ่นวายขึ้น ตื่นนอนไม่เป็นเวลา กินข้าวไม่เป็นเวลา ทำงานไม่เป็นเวลา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็มีโอกาสที่การทำงานจากที่บ้านจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น รวมถึงร่างกายมีการเคลื่อนไหวหรือมีกิจกรรมทำน้อยลงด้วย
“ผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อสุขภาพจิตของผู้คนนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง การแยกตัวทางสังคม ความกลัวการแพร่ระบาด และการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว รวมถึงปัญหาเรื่องรายได้และการงาน”
คำกล่าวนี้เป็นของผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาระดับโลกที่ระบุว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดปีแห่งการทำงานที่เครียดมากที่สุด ซึ่งกระทบต่อสุขภาพจิตของแรงงานกว่า 78% ทั่วโลก
ความเครียด(Stress) ที่เกิดขึ้นถ้าไม่มากจนเกินไป ร่างกายอาจจะพอรับไหวและส่งผลกระทบต่อร่างกายเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นความเครียดที่มากขึ้นจนร่างกายไม่สามารถจัดการได้ก็มักจะพัฒนากลายเป็นความเครียดสะสมเรื้อรัง(Chronic Stress) และยังมีตัวเสริมกำลังอีกนั่นก็คือการที่เรามีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทั้ง 2 อย่างส่งผลให้กล้ามเนื้อยิ่งมีความตึงมากขึ้น และสุดท้ายนำไปสู่อาการปวดเมื่อยร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณไหล่ บ่า หลังล่าง หรือบางคนอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
นอกจากความเครียดแล้วก็ยังมีผลกระทบด้านจิตใจอื่น ๆ อีก เช่น ความรู้สึกหมดไฟ(Burnout), ปัญหาโรคซึมเศร้า(Depression) เป็นต้น รวมถึงผลกระทบด้านร่างกายที่ไม่ได้มีเพียงแค่อาการปวดเมื่อยตามตัว กล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น ผลกระทบเกี่ยวระบบทางเดินหายใจซึ่งจะค่อนข้างอันตรายในผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด, ความดันโลหิตสูงขึ้น, นอนไม่หลับ เป็นต้น
ช่วง Work From Home ทำให้เรามีความเครียดสะสมเพิ่มขึ้นและมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ส่งผลเสียต่อร่างกายที่แน่ ๆ คือทำให้กล้ามเนื้อตึงและนำไปสู่อาการที่ไม่พึงประสงค์ตามมาภายหลัง นอกจากนี้ยังมีผลเสียกับร่างกายอื่น ๆ อีกมาก(ดูเพิ่มเติม > https://www.healthline.com/health/stress/effects-on-body) หรือถ้าไม่ใช่ช่วง Work From Home แต่เรามีพฤติกรรมนั่งทำงานหรืออยู่นิ่ง ๆ ในท่าเดิมนานเกินไปก็มีโอกาสได้รับผลเสียดังกล่าวได้เช่นกัน ดังนั้น ทางที่ดีเราควรป้องกันให้ถูกจุดตั้งแต่การจัดการกับความเครียดและขยับร่างกายบ่อย ๆ ไม่ปล่อยให้ไปถึงจุดที่ปวดแล้วค่อยหาทางรักษา เพราะถ้ารักษาแล้วไม่หายขาดก็จะกลายเป็นอาการเรื้อรังและรุนแรงขึ้นในที่สุด