Office Syndrome คืออะไร
เราอยู่ในยุคที่นั่ง นอน มากกว่าเคลื่อนไหว
เราอยู่ในยุคที่งานที่นั่งทำงานใช้สมอง ดูดี ดูมีความสำคัญ กว่างานที่ใช้แรง ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย
เราอยู่ในยุคที่การจะเคลื่อนไหวร่างกาย จะออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะสำคัญ
ในยุคประมาณ 10 ปีหลังมานี้ office syndrome เป็นคำที่โดนพูดขึ้นใหม่ และดูจะมีแนวโน้มจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ซึ่งคำว่า office syndrome เป็นชื่อเรียกกลุ่มอาการปวดคอบ่า หรือหลังล่าง ในคนที่ทำงาน office หรืออาจจะมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับการทำงาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรค work-related musculoskeletal disorder (WMSDs)
โดยกลุ่มโรค WMSDs ไม่ได้เฉพาะเจาะจง ว่าจะต้องเป็นงานนั่งโต๊ะ เท่านั้นนะครับ อาจหมายถึง งานอื่นๆ ที่ใช้ movement ซ้ำๆ ติดต่อกัน เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่ต้องยกกระเป๋าเหนือศีรษะซ้ำๆ จนเอ็นหัวไหล่อักเสบ ใส่ส้นสูงบ่อยๆ จนเกิดรองช้ำ หรือพนักงานขับรถ ที่อาจจะเกิดอาการปวดสเบักเพราะต้องยกแขนขับรถตลอดเวลาก็ได้
ส่วนกลุ่มโรค Office Syndrome เอาไว้ใช้เป็นชื่อเล่น เรียกอาการทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ที่อาจจะเกิดได้จากการนั่งทำงานบนโต๊ะ หน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ (Myofascial Pain Syndrome) หรืออาการชามือ จากการกดทับที่ข้อมือเพราะใช้เม้าส์ทำงาน (Carpal Tunnel Syndrome) หรือแม้กระทั่งเจ็บเอ็นนิ้วโป้งจากการใช้งาน smart phone (De Quervain’s Tenosynovitis) เป็นต้น
แต่ส่วนมากก็คงหนีไม่พ้นอาการปวดคอบ่าสะบัก เวลานั่งทำงานนานๆ กันสักเท่าไหร่ ถือว่าเป็นอาการยอดฮิตเลยทีเดียว ซึ่งอาการยอดฮิตแบบนี้ ถ้าหากไม่เคยมีประวัติกระดูกคอเสื่อม หรือ activity อะไรที่เป็นการสะบัดคอแรงๆ จนเสี่ยงหมอนกระดูกคอปลิ้น ก็มักจะเป็นแค่กลุ่มอาการ Myofascial Pain Syndrome (MPS)
MPS หรือ Myofascial Pain Syndrome มีกลไกการเกิดโรค จากการใช้กล้ามเนื้อในท่าใดท่านึงคงค้างไว้ตลอดเป็นระยะเวลานาน โดยที่ไม่ได้พักหรือเปลี่ยนท่าเลย จะทำให้เกิดอาการปวดตามมัดกล้ามเนื้อได้ครับ
สรีรวิทยาของกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อของเรามีลักษณะเป็นอย่างไร ทำงานได้อย่างไร
ก่อนอื่นเรามาดูสรีรวิทยาในระดับหน่วยกล้ามเนื้อกันก่อนครับ
ปกติกล้ามเนื้อมนุษย์จะมี หน่วยที่เล็กที่สุดเรียกว่า Myofibril เป็นหน่วยที่ใช้ในการหดตัวเพื่อให้เกิดการทำงานโดยรวมของมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเส้นใยเล็กๆ 2 เส้น เรียกว่า Actin และ Myosin
โดยเวลากล้ามเนื้ออยู่ในท่าพัก ทั้งสองจะมีระยะห่างที่เหมาะสมกัน หากเราเกร็งหดกล้ามเนื้อ เส้นใยทั้งสองจะเคลื่อนเข้าหากัน ในทางกลับกันหากเรายืดกล้ามเนื้อ เส้นใยทั้งสองก็จะมีระยะห่างมากขึ้น กล้ามเนื้อของเราทำงานได้ หดตัวได้ ยืดหดได้ ด้วยลักษณะทางกายภาพเช่นนี้
ซึ่งเวลาเรานั่งทำงาน กล้ามเนื้อซึ่งถูกใช้ในการขยับเคลื่อนไหวข้อต่อ โครงสร้างของเรามักจะถูกเซ็ตให้อยู่ในท่าใดท่านึงนานๆ ยิ่งถ้าหากทำงานเข้าสู่ภาวะ flow แล้ว เรามักจะลืมการขยับร่างกายมากขึ้นไปอีก
ร่างกายที่ถูกเซ็ตท่า บางกล้ามเนื้อก็จะโดนยืด บางกล้ามเนื้อก็โดนหดไปพร้อมๆ กับข้อต่อ ท่าทางที่โดนเซ็ต ในท่าที่เราใช้งานแล็บท็อป คอมพิวเตอร์ มือเรามักจะยื่นไปข้างหน้าหัวไหล่งุ้มหมุนเข้า สะบักและหลังงุ้มงอ คอยื่นเข้าหาจอ
กล้ามเนื้อที่หดเข้าหากัน (Shortening Muscle) จะเกิดภาวะที่กล้ามเนื้อตึงตัวมากขึ้น เกิดจุดกดเจ็บตามแนวกล้ามเนื้อได้ง่าย รวมไปถึงบางมัดที่ตึงตัวก็มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อหดสั้นจนไม่สามารถออกแรงหดตัวได้ เช่น กล้ามเนื้อ Pectoralis Major, Levator Scapulae, Sternocleidomastoid, Abdominal, Latissimus Dorsi, Subscapularis
กล้ามเนื้อที่โดนยืดออก (Lengthening Muscle) จะเกิดภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการ โดนยืดค้างแต่กล้ามเนื้อเหล่านั้นยังต้องออกแรงรั้งร่างกายไว้ จนอาจทำให้เกิดภาวะล้าและปวดตามมา ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้ก็มักจะมีจุดกดเจ็บร่วมด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อ Middle/Lower Trapezius, Rhomboids , Deep Neck Flexor, Infraspinatus
อาการ Upper-Crossed Syndrome
ซึ่งพอดูจากมุมด้านข้าง กลุ่มมัดกล้ามเนื้อหดสั้นหรือยืดยาวมักจะเกิดในแนวทะแยงกัน เกิดการไขว้เป็นรูปตัว X เลยอาจมีชื่อเรียกเล่นๆ อีกชื่อว่า Upper-Crossed Syndrome ก็ได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ทำให้อาการปวดเมื่อย มักจะกระจายเป็นบริเวณกว้างๆ อาจจะบอกเป็นจุดไม่ได้ชัดเจน
โดยสรุปแล้ว Office Syndrome ก็คือชื่อเล่น ชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกลุ่มอาการ Myofascial Pain Syndrome เกิดจากการค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หรือการเคลื่อนไหวรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซ้ำๆ จนเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ซึ่งมักจะเกิดจากการทำงานในยุคนี้ ที่ทำให้เราขยับร่างกายน้อยลง และมักจะเจอในกลุ่มนั่งโต๊ะทำงาน จึงถูกเรียกว่า Office Syndrome
โดยกลุ่มภาวะนี้จะมีอาการอย่างไร ฝากติดตามในบทความต่อไปด้วยนะครับ ขอบคุณครับ