รู้จักกับโรค NCDs
Non-Communicable Diseases (NCDs) คือกลุ่มของโรคหรือภาวะทางสุขภาพที่ไม่ติดต่อ ไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นแล้วมักจะอยู่กับเราเป็นเวลานาน หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคเรื้อรัง (chronic disease)
สิ่งที่ทำให้คนเป็นโรคนี้มีหลายสาเหตุ ตั้งแต่ปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น บางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเสี่ยงที่จะเป็นโรคกลุ่มนี้
ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (เม.ย. 64) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจาก NCDs มากถึง 41 ล้านคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 71% จากยอดผู้เสียชีวิตรายปีทั้งหมด
ในกลุ่ม NCDs มีโรคอะไรบ้าง?
ในปีๆ นึงคนทั่วโลกถูกโรคกลุ่มนี้เล่นงานมากมาย ใน 41 ล้านคนดังกล่าวโดยหลักๆ แล้วมีโรคอยู่ 4 ประเภทที่พบเจอได้บ่อยมากที่สุด คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease), โรคมะเร็ง (cancer), โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ (chronic respiratory disease) และโรคเบาหวาน (diabetes)
โรคหัวใจและหลอดเลือด
รูปแบบการใช้ชีวิตค่อนข้างมีผล โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินที่ไม่ค่อยดี เช่น ชอบกินของทอด ของมัน ของหวานในปริมาณมากเกินไป รวมถึงการออกกำลังกายไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะความดันสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันสูง โรคอ้วน และนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด โดยโรคที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย โรคหัวใจแต่กำเนิด ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
โรคมะเร็ง
โรคในกลุ่ม NCD ที่มียอดผู้เสียชีวิตมากเป็นอับดับ 2 คือมะเร็ง จริงอยู่ว่ามะเร็งบางชนิดเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า 30-50% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเกิดจากสาเหตุเกี่ยวกับวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอลล์ เป็นต้น
โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ
โรคที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจและปอด เกิดจากสาเหตุด้านพันธุกรรมหรือจากพฤติกรรมก็ได้ เช่น การสูบบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีก็อาจจะทำให้เราได้รับอากาศที่ไม่สะอาดเข้าไปด้วย ตัวอย่างโรค เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง (COPD) โรค Cystic Fibrosis เป็นต้น
โรคเบาหวาน
เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่คอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (อินซูลิน) หลักๆ มี 2 ชนิด เบาหวานชนิดแรกพบค่อนข้างน้อยและมักเกิดในเด็กหรือวัยหนุ่มสาว เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องได้รับการฉีดเข้าร่างกายเพื่อช่วยควบคุมน้ำตาล
ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 หลักๆ มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมทั้งการกินและการออกกำลังกาย โดยร่างกายยังพอสร้างอินซูลินได้ แต่อินซูลินที่มีอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่พบได้ในคนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (obesity)
โรคอื่นๆ ในกลุ่ม NCDs
นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ อีกมากที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ลองดูจากภาพด้านล่างได้เลย
ถึงแม้ว่าโรคในกลุ่ม NCD ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันได้ บางโรคแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อยก็ช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายให้เพียงพอ ลองสำรวจตัวเองดูครับว่าสิ่งไหนที่เราพอจะเริ่มทำมันให้ดีขึ้นได้ เพราะสุดท้ายแล้วการมีสุขภาพที่ดีคือของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับตัวคุณเองและคนที่คุณรัก
ในบทความอื่นๆ เราจะเจาะลึกกันครับว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันหรือส่งผลดีต่อโรค NCDs ยังไงบ้าง รอติดตามได้เลยครับ ขอบคุณครับ