Motor Learning คืออะไร? เกี่ยวข้องยังไงกับการฝึกทักษะกีฬา

motor learning คือ ความสามารถในการพัฒนาการเคลื่อนไหว การทำงานประสานกันของร่างกาย และการทำทักษะกีฬา วิ่ง เทนนิส ฟุตบอล ยิงธนู รวมถึงท่าออกกำลังกายต่างๆ
Picture of Tham Thaiyanont, MS, CSCS
what-is-motor-learning-featured-img
แยกอ่านทีละหัวข้อ

ถ้ารถยนต์เปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ คนขับรถยนต์จะเปรียบเสมือน.......?

คำตอบที่เข้ามาในหัวคงมีไม่เยอะใช่มั้ยครับ หนึ่งในนั้นก็น่าจะมีคำว่า “สมอง”

 

ถ้ารถยนต์เปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้ ถ้าไม่มีคนขับ คนที่บังคับ การจะเกิดการเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้

 

ลักษณะการเปรียบเทียบแบบนี้ ต้องการทำให้เราเห็นภาพของความสำคัญของสมอง ที่ทำหน้าที่สั่งการร่างกายเราอีกที ที่มีผลกับคุณภาพการเคลื่อนไหวของเราโดยตรง ไม่แพ้กับความสามารถ ศักยภาพทางร่างกายของเราเลยครับ

 

ร่างกายของเราเป็น “Peripheral Adaptation” มีความสัมพันธ์กับสมอง หรือ “Central Adaptation

Motor Skill Learning

Motor Skill Learning คือ ความสามารถศักยภาพในการพัฒนา การเคลื่อนไหว (Move) การทำงานประสานกันของร่างกาย (Coordination) และการแสดงออกของทักษะ (Express a Skill)

 

Motor Skill Learning นี้ครอบคลุมไปในทุกทักษะที่เราเรียนรู้ครับ ทักษะกีฬาต่างๆ การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เทนนิส แบตมินตัน ฟุตบอล ยิงธนู หรือแม้แต่ท่าออกกำลังกาย ท่าฝึกต่างๆ ที่เราเล่นกัน

 

เพราะฉะนั้นแล้วการฝึกทักษะอะไรก็ตามแต่ การคำนึงถึงเพียงแค่ร่างกายของเรา ว่ามีความพร้อม มีความแข็งแรงแค่ไหน กล้ามเนื้อข้อต่อตึงติดเพียงใด หรือต่อให้ไม่มีปัญหาทางด้านร่างกายเลย ก็อาจจะยังทำให้เราพบปัญหาจากการฝึกทักษะต่างๆ ได้อยู่ดี

 

ยืดกล้ามเนื้อจนตัวย้วยหมดแล้ว Mobility ก็ดีสุดๆ กล้ามเนื้อก็แข็งแรงดี Core ก็มั่นคง แต่ก็คงไม่มีใครกล้าการันตี ถึงฟอร์มในท่าฝึกต่างๆ ที่ดี หรือทักษะกีฬาอื่นๆ ที่ดีได้ ถูกมั้ยครับ?

Motor Learning vs Motor Performance

ทำไมวันนี้ทำท่านี้ได้ดี ฟอร์มดี แต่พออีกวันกลับทำไม่ได้เหมือนเดิม ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องเกร็งตรงไหนอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างต่อไปนี้ครับ

 

  • ตัวอย่างที่ 1 – Strength Coach คนหนึ่งทำงานกับนักกีฬาวิ่งระยะไกล ที่กำลังฝึก Olympic Lifting นักกีฬาคนนี้ยังไม่เคยฝึกทักษะนี้มาก่อน หลังจากฝึกผ่านไปหลายสัปดาห์ ถึงจุดหนึ่งที่ยกได้ดีในระดับที่ปลอดภัย ก็พบว่าในแต่ละครั้งที่มาฝึก จะต้องมีการสอนท่า หรือทวนทักษะใหม่หมด แล้วก็ทำได้ดีขึ้น ทำได้ถูกต้องภายใน Session แต่หลังจากนั้น ก็ยังคงต้องสอนใหม่ ทวนใหม่ในทุกๆ ครั้งเช่นเดิม
  • ตัวอย่างที่ 2 – Personal Trainer สอนท่า Squat ให้กับนักเรียนคนหนึ่ง ก็พบว่าจะเจอการหุบเข่าเข้ามาอยู่บ่อยครั้ง แม้จะบอกว่าให้พยายามกางเข่าออก เวลาฝึกเข่าก็ยังหุบเข้าอยู่ จนได้ลองใช้ยางยืดรัดไว้ที่เหนือเข่า ก็พบว่านักเรียนสามารถรักษาแนวของเข่าได้ดียิ่งขึ้น แล้วทักษะการ Squat ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ต้องใช้ยางยืดอีกต่อไป

 

ทั้งสองเรื่อง เราก็น่าจะเคยเจอ หรือเคยได้ยินกันมาบ้าง

 

จากตัวอย่างที่ 1 ที่เราก็อาจจะเคยเห็นนักกีฬาที่ฝึกซ้อมได้อย่างดี แต่เมื่อลงไปเล่นจริง หรือแข่งจริงก็ทำได้ไม่ดี แต่ในขณะที่เรื่องที่ 2 ก็เป็นพัฒนาการของนักเรียนหรือนักกีฬาที่โค้ชอยากจะได้

 

เดี๋ยวเราลองมาดูกันครับว่าทั้งสองเรื่องต่างกันยังไง แล้วมันเกี่ยวข้องกับ Motor Skill Learning อย่างไร

1. Motor Performance

Motor Performance คือ การพัฒนาของทักษะในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราเห็นได้ระหว่างการฝึก หรือหลังการฝึกเท่านั้น หลังจากนั้นความสามารถก็จะกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเริ่มต้นฝึก

 

ซึ่งอาจจะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อ Motor Performance ได้ เช่นความเมื่อยล้า, การวอร์มอัพ, การนอนหลับ, สิ่งเร้าภายนอก, แรงจูงใจต่างๆ

2. Motor Learning

Motor Learning คือ การพัฒนาของทักษะที่เราเห็นได้ในระยะยาว เห็นการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ของทักษะในแต่ละครั้ง แต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน ซึ่งจะเป็นผลมาจากการฝึกซ้อมโดยตรง และ Motor Performance ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ดี ที่จะบอกได้ว่า Motor Learning จะพัฒนา

 

เพราะในหลายๆ บริบทของการฝึกที่พบว่าพัฒนา Motor Performance ได้ แต่ก็มีไม่เยอะที่หลงเหลือจนกลายเป็น Motor Learning

“…แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิด Motor Learning กับนักเรียนมากกว่าที่จะเป็น Motor Performance?”

Acquisition Phase vs Retention Phase

1. Acquisition Phase

Acquisition Phase คือ ช่วงเวลาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใน Session หรือหลายๆ Session ที่โค้ชคอยสอนและให้ Feedback หรือมีการใช้เทคนิคต่างๆ มาช่วยให้เข้าใจมากขึ้นในทักษะต่างๆ ที่กำลังสอน เช่นการใช้ยางยืดสวมไว้ที่เข่าแบบตัวอย่างที่ 2

 

บ่อยครั้งที่เราดูพัฒนาการที่เกิดจากในช่วง Acquisition Phase เป็นหลัก แต่ถ้าจะให้ดี ให้ช้วร์ว่าการเรียนรู้ทักษะเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมาดูในช่วง Retention Phase

2. Retention Phase

Retention Phase คือ ช่วงเวลาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนหรือนักกีฬาทำทักษะได้ด้วยตัวเอง ไม่มีการให้คำแนะนำหรือ Feedback จากโค้ช

 

จากตัวอย่างที่ 1 โค้ชสามารถลองปล่อยให้นักกีฬาได้ลองทำท่าก่อนที่จะมีการให้ Feedback แก้ไขท่าในแต่ละครั้งที่ยกก็ได้ นี่ก็คือ Retention Phase แบบหนึ่งเช่นกัน แต่ถ้าหากเราให้Feedback ที่เร็วเกินไป หรือบ่อยเกินไป การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นจะพัฒนาไปเป็น Motor Learning ที่ดีก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

 

เราจึงต้องระวังการการเปลี่ยนแปลงของทักษะที่เกิดขึ้นจากตัวโค้ช แทนที่จะเป็นนักกีฬาเองที่เรียนรู้ทักษะนั้นได้เอง

motor-learning
ภาพอธิบายลักษณะของ Motor Learning

สรุป

สิ่งที่เราต้องการมองหาสำหรับคนเป็นโค้ช เป็นเทรนเนอร์แล้ว คงไม่พ้นการที่จะสอนให้ นักกีฬา นักเรียน ทำท่าได้อย่างถูกต้อง และการมี Movement Quality ที่ดี ไม่ควรมองแค่ที่ร่างกายอย่างเดียวได้อีกแล้ว

 

แต่ก่อนเราอาจจะคิดถึง Progression ในแง่ของน้ำหนักอย่างเดียว ยกให้หนัก ยกให้มากขึ้น ยกๆๆๆ กล้ามจะได้ใหญ่ จะได้ดูเหมือนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่ได้ดูว่าฟอร์มจะเป็นอย่างไร

 

ในแต่ละ Session การ Progress ด้วยน้ำหนักแบบที่ว่ามา ก็ส่งผลต่อ Motor Performance ได้เช่นกัน และนำไปสู่ Motor Learning ที่ผิดเพื้ยนต่อเนื่องไปได้

“นอกจากจะพัฒนาสภาพรถยนต์ (ร่างกาย) ให้ดีอยู่เสมอ ก็อย่าลืมสนใจคนขับรถยนต์ (สมอง) ให้พร้อมที่จะขับได้ดีมีคุณภาพไปพร้อมๆ กันครับ”

WRITTEN BY