เจ้าภาพ (ไม่) เท่ากับ เจ้าเหรียญทอง

การแข่งขันกีฬาในทุกระดับ หากใช้แนวคิดเพียงแค่ว่า “เหรียญทองเป็นตัวชี้วัดนักกีฬา โค้ช ทีมงาน” แน่นอนว่ากระบวนการที่นำไปสู่ผลลัพธ์นั้นอาจมีทั้งในแง่ดีและไม่ดี
Picture of Tham Thaiyanont, MS, CSCS
gold-medal-featured-img
แยกอ่านทีละหัวข้อ

เจ้าเหรียญทอง ใครๆ ก็อยากเป็น

หลายคนที่ได้ดูมหกรรมกีฬาซีเกมส์มาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเห็น Pattern ที่มีมาอย่างต่อเนื่องของเจ้าภาพในแต่ละปี

 

การใช้เทคนิคกลยุทธ์ในการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพซีเกมส์ในแต่ละครั้ง สะท้อนถึงแนวคิดในการมองการพัฒนากีฬาเป็นอย่างมาก

 

รายการไหนกีฬาไหนเก่งเราจัดรายการไหนกีฬาไหนเราไม่เก่งเราตัดออก การทำแบบนี้เพื่อที่จะทำให้ตัวเองเป็นเจ้าเหรียญทอง

 

แนวคิดนี้ส่งผลในระยะยาวมาก ส่งผลมาถึงการพัฒนานักกีฬาในอาเซียน

 

การเป็นเจ้าภาพไม่ได้เท่ากับการเป็นเจ้าเหรียญทอง เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราคงเห็นเจ้าภาพโอลิมปิก สลับกันเป็นเจ้าเหรียญทองเวียนกันไป

 

ความต้องการจะเป็นเจ้าเหรียญทองของเจ้าภาพในกลุ่มประเทศอาเซียน มันอาจสะท้อนถึงแนวคิดที่มองว่า เหรียญทองคือสิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งกีฬา

 

หากไปดูสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่มีการแข่งขันซีเกมส์มา จะสังเกตได้ว่า 80 – 90 % ของประเทศที่ได้เป็นเจ้าภาพมักจะเป็นประเทศที่ได้เป็นเจ้าเหรียญทอง

Southeast Asian Games Medal History
สถิติเหรียญรางวัลรายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995-2021

“แนวคิดเหรียญทองเท่านั้น (Outcome Goal)”

เหรียญทองคือสิ่งที่นักกีฬาทุกคนอยากไปถึง อยากได้ ไม่ต่างกัน ทุกคนต่างมุ่งเป้า วางเป้าหมายไปที่จุดๆ เดียวกัน เราชนะ เราได้เหรียญทอง เกิดความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติประวัติในชีวิต เงินรางวัลและผลตอบแทนก็ตามมา

 

ลักษณะการตั้งเป้าหมายแบบนี้เราเรียกตามภาษาวิชาการหน่อย ว่า ตั้งแบบใช้ Outcome Goal คือ อยากได้ผลลัพธ์แบบไหน สิ่งที่อยากได้คืออะไร แล้วกระบวนการก็จะตามมา

 

แน่นอนว่าเมื่อตั้งเป้าแบบนี้ กระบวนการที่ตามมา มันก็สามารถคิดได้ทั้งแบบดีและไม่ดี

 

ทางฝั่งของการจัดการแข่งขันที่ทำเพื่อให้ได้เป็นเจ้าเหรียญทอง

ไม่ว่าจะเป็น

  • ไม่จัดการแข่งขันที่ตัวเองไม่มีนักกีฬา
  • ตัดบาง Event ไม่จัดการแข่งขันที่ตัวเองไม่เก่งออกไป
  • บางกีฬาส่งแข่งขัน 2 ทีม 3 ทีม
  • โกงคะแนนตัดสิน
  • หรือรูปแบบอื่นๆ ที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน ได้เห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง

 

สิ่งเหล่านี้ก็จะกระเทือนมาถึงนักกีฬา เมื่อเหรียญทองเป็นตัวชี้วัดสำคัญของตัวนักกีฬา โค้ชและสมาคม หรือสโมสรเองก็ตาม

  • นักกีฬาเกิดความกดดันตั้งแต่ซ้อมไปจนถึงการแข่งขัน
  • ไม่ว่าเวลาในการเตรียมตัวจะมากน้อย ก็ไม่มีการปรับเป้าหมายตัวชี้วัดแต่อย่างใด ซ้อมหนัก จนหักโหม นักกีฬาไม่พัฒนาแถมบาดเจ็บ
  • นักกีฬาที่ได้เหรียญเงิน หรือทองแดง หรือไม่ได้เหรียญ ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกด้อยค่า
  • รวมถึงโค้ช หรือทีมงานเอง ที่จะถูกด้อยค่าไปด้วย หากทำผลงานได้ไม่ดี ทั้งๆ ที่ปัจจัยที่จะชนะได้ มันมีอีกหลายอย่าง
  • มีการ Doping เกิดขึ้น และยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มันคือการทำยังไงก็ได้ให้ได้มาซึ่งเหรียญทอง แม้ว่าจะต้องโกง ต้องตุกติก หรือต้องแลกด้วยอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น เวลาซ้อมมีไม่มาก แล้วก็โหมซ้อมหนักๆ หรือต้องแลกด้วยสุขภาพของตัวเอง ผ่านการ Doping

 

ถ้าใครที่เคยเป็นนักกีฬา เป็นโค้ช น่าจะพอเห็นภาพกันบ้างนะครับ

“จริงๆ แล้ว ควรมองถึงนักกีฬาเป็นหลัก ให้นักกีฬาแสดงความสามารถให้เต็มที่ (Process Goal)”

มหกรรมที่ใหญ่กว่านี้อย่างเอเชี่ยนเกมส์ หรือโอลิมปิก กับการคิดของปรัชญาโอลิมปิกที่บอกไว้ว่า

 

“The goal of the Olympic Movement is to contribute to building a peaceful and better world by educating youth through sport practiced without discrimination of any kind and in the Olympic spirit, which requires mutual understanding with a spirit of friendship, solidarity, and fair play”

 

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก คือการที่ได้ใช้กีฬาเข้ามาหล่อหลอม ขัดเกลามนุษย์ ผ่านการเล่นกีฬา ไม่ใช่การแข่งขันความเป็นเลิศระหว่างประเทศ หรือระหว่างนักกีฬาด้วยกัน

 

แต่ให้นักกีฬาได้แสดงความสามารถที่ตัวเองได้ซ้อมมา อย่างเต็มที่ที่สุด คือการตั้งเป้าหมายด้วย Process Goal เป็นการมองที่กระบวนการ ขั้นตอนเป็นหลัก เราจะซ้อมอย่างไร เราจะฝึกอย่างไรให้เราพัฒนาความสามารถของเราได้มากที่สุด

 

กีฬาแต่ละชนิด แต่ละประเภท มีรูปแบบการแข่งขันที่ไม่เหมือนกัน มีความยากง่ายต่างกัน คู่ต่อสู้ที่เจอ การเตรียมตัวของนักกีฬา ระยะเวลาที่เตรียมตัว หรือแม้แต่การสนับสนุนจากภาครัฐเอง

 

ด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันมากมายเช่นนี้ จึงทำให้การตั้งเป้าหมายไปที่การพัฒนาความสามารถเป็นหลัก จึงสมเหตุสมผลมากกว่า

 

พัฒนาไปให้ได้มากที่สุดตามกำลัง ตามทรัพยากรที่มี ที่ได้รับการสนับสนุนมา

  • นักกีฬาไม่เกิดความกดดันมากจนเกินไป ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้
  • ไม่ว่าจะได้เหรียญใด หรือไม่ได้เหรียญ แต่เมื่อเขารู้ตัวดี คนรอบข้าง โค้ช ทีมงานทุกคนรู้ ว่าเราเต็มที่ที่สุดแล้ว เราพัฒนาขึ้นมามากแล้ว จากการวัดผลสมรรถภาพหรืออะไรก็ตามแต่ ก็จะเกิดการยอมรับนักกีฬาเท่าๆ กัน ไม่เกิดการแบ่งชนชั้น
  • เกิดการพัฒนาความสามารถของนักกีฬาในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ความสำเร็จ ที่จะได้เหรียญทอง ได้มากกว่าด้วยซ้ำ

 

เมื่อเราคิดเช่นนี้ว่าจะทำยังไงให้เราพัฒนาความสามารถของนักกีฬาไปได้มากที่สุด ก็จะเกิดการคิดตามมาด้วยกระบวนการที่ดีมากกว่า เช่น

  • ต้องฝึกแบบไหนนะ ต้องใช้อะไรมาเสริมความสามารถ
  • ต้องใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างไร
  • ต้องใช้เวลาในการพัฒนา เตรียมตัวเท่าไหร่ ตามหลักวิทยาศาสตร์
  • ต้องมีทีมงานดูแลมากน้อยแค่ไหน

 

สิ่งที่สวยงามที่เราเห็นจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่เป็นแนวคิด เป็นทัศนคติที่เห็นได้จากนักกีฬาและทีมจัดการแข่งขังโอลิมปิกที่ผ่านมา ก็คงจะเป็นกรณีของนักกีฬากระโดดสูงทั้งสองคนนี้

 

หากไม่ใช่ใจที่ไม่ได้คิดถึงแค่เพียงจะเอาชนะ ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ที่จะมีผู้ชนะเหรียญทองพร้อมกัน 2 คนได้

 

หากไม่ใช่ฝ่ายจัดที่เข้าใจถึงความหมายในการจัดการแข่งขัน ว่าไม่ได้ต้องหาผู้ชนะสูงสุดเพียงคนเดียวเสมอไป

Athletes with Gold Medals
ภาพนักกีฬากระโดดสูงจากกาตาร์และอิตาลีได้เหรียญทองร่วมกันในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว
สิ่งที่สวยงามอีกอย่างที่ไม่ได้มองแค่เหรียญทอง หรือเหรียญรางวัลของนักกีฬา แต่คือการ Recognize หรือคุณค่าของนักกีฬาตลอดเวลาที่เขายังเป็นนักกีฬา ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงฝึกซ้อมอยู่ หรือช่วงมหกรรมกีฬา
Australian Olympic Team FB Pages
เพจเฟสบุ๊ค Australian Olympic Team

เพจนี้คือตัวอย่างของการเห็นคุณค่าของนักกีฬาที่ดีมากๆ ของทีมโอลิมปิกออสเตรเลีย เข้าไปเยี่ยมชมเพจได้ที่ 👉 Australian Olympic Team

 

เป็นเพจที่จะมีข่าวสาร เรื่องราวของนักกีฬาทีมชาติออสเตรเลีย อัพเดทมาตลอด ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเคยได้เหรียญทองโอลิมปิกมั้ย จะดังแค่ไหน หรือแม้จะไม่เคยได้เหรียญเลย

 

หรือในช่วงมหกรรมโอลิมปิก ที่ไม่ว่าใครจะได้เหรียญอะไร หรือไม่ได้เหรียญเลย จะถูกพูดถึง เรื่องราวตั้งแต่ช่วงฝึกซ้อม ช่วงแข่งขันในแต่ละรอบไม่แตกต่างกัน

 

การมองแค่เหรียญทองเท่านั้นของเจ้าภาพมหกรรมซีเกมส์ ส่งผลอย่างมากกับการพัฒนานักกีฬาในภูมิภาคนี้

 

“ไม่เกิดการแข่งขันระหว่างความสามารถจริงๆ อย่างเพียงพอต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพของนักกีฬาแต่ละประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น”

 

คิดตามหลักการตลาด ที่ว่า ถ้ามีการผูกขาดสินค้า ที่มีผู้ขายสินค้านี้ไม่กี่เจ้า เกิดการแข่งขันน้อย คุณภาพสินค้าก็ไม่พัฒนาขึ้น

 

เช่นเดียวกันครับ ถ้าเจ้าภาพมัวแต่ตัดบาง Event ที่ตัวเองไม่เก่งออกไป ไม่จัดให้เกิดการแข่งขัน นักกีฬาประเภทนี้ไม่ได้แข่งขัน พักไปอีก 2 ปี กว่าจะได้แข่งอีกครั้งหนึ่ง ความสามารถที่ควรได้แสดงบนสนาม ได้วัดผล เปรียบเทียบก็ไม่เกิด ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจคิดแค่ว่า ปีหน้าเราเป็นเจ้าภาพ เราก็ทำแบบนี้บ้าง

 

ต่างจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่เขาพยายามจะจัดกีฬาทุกประเภท ไม่ว่าเจ้าภาพจะเก่งไม่เก่ง ไม่เกี่ยวกัน

 

เราชนะก็ชนะไป เราแพ้ก็แพ้ไป แค่นำไปปรับปรุงใหม่ในครั้งต่อไป ทุกๆ ชาติได้แสดงความสามารถให้ดีที่สุด นักกีฬาทุกชาติ ทุกประเภทได้ ทดสอบตัวเอง ได้วัดผล ได้เปรียบเทียบ เกิดการพัฒนาตัวเอง และกีฬาประเภทนั้น ๆ ในประเทศ ก็ถูกพัฒนาไปด้วย จึงไม่แปลกที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะยังคงสร้างนักกีฬาแต่ละรุ่นออกมาทดแทนได้อย่างต่อเนื่อง

 

ประเทศไทย หรือประเทศในอาเซียนเอง คงต้องมองข้ามเรื่องเหรียญทองคือที่สุด ออกไปให้ได้ก่อน ท้ายที่สุด เราก็น่าจะมองเห็นนักกีฬาของเราพัฒนาไปได้มากกว่านี้

 

ใครคิดเห็นอย่างไร มีอะไรเพิ่มเติม หรือต่างออกไป พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

WRITTEN BY