แยกอ่านทีละหัวข้อ

จากบทความที่แล้ว ทำไมต้อง “Squat” จะเห็นว่าการทำท่า Squat ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม จะมีการใช้กล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกายหลายองค์ประกอบมาก เรียกได้ว่าแทบจะทุกส่วนของร่างกายเลย และเราได้มีการเกริ่นถึงปัญหาทั่วไปของท่ากันแบบคร่าวๆ แล้ว ถัดมาในหัวข้อนี้หลายคนอ่านแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนว่า

“นั่นสิ” ทำ Squat ไม่ได้แล้วมันบอกอะไรเรา แล้วเราต้องทำอะไรต่อไป ฝืนเล่นไปเดี๋ยวก็ทำได้เอง แบบนั้นดีมั้ย?

วันนี้เราจะมาลองแยกย่อยให้ดูกันครับว่าจริงๆ แล้ว Squat ไม่ลง ลงได้ไม่สุด หรือทำไม่ได้เลย น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

ในหัวข้อนี้ จะเป็นเพียงแค่การเสนอแนวทางการมองปัญหาและหาสาเหตุว่าปัญหาเกิดมาจากอะไร และจะอิงจากท่า Body Weight Squat เป็นหลักเพียงเท่านั้นครับ

จากการสังเกตของผม สาเหตุหลัก ที่ทำให้การ Squat ลงไม่สุดหรือทำไม่ได้ จะแบ่งเป็น 2 สาเหตุ ดังนี้ครับ

  1. Lack of Motor Skill for Squat (ขาดทักษะในการทำ Squat)
  2. Physical Problem (ปัญหาทางกายภาพ)

Lack of Motor Skill for Squat

กรณีนี้จะยากหรือง่าย จะขึ้นอยู่ที่ตัวผู้ฝึกแต่ละคนว่าจะสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้สอนถ่ายทอดได้แค่ไหน

ถ้าผู้ฝึกทำได้และเข้าใจสิ่งที่ผู้สอนถ่ายทอด ถึงแม้จะเป็น “มือใหม่” หรือ “Untrained” แต่ถ้าเข้าใจวิธีการเคลื่อนไหว หรือเข้าใจวิธีในการขยับและควบคุมร่างกาย ก็จะทำได้ไม่ยากครับ

แต่ถ้าบางคนไม่เข้าใจและหรือยังควบคุมการขยับร่างกายได้ไม่ดี สำหรับการ Squat จึงไม่แปลกที่เมื่อเราบอกให้เขาทำ Squat แล้วจะมีลักษณะแปลกๆ ไปจากที่มันควรจะเป็น

เพราะบางคนไม่เคยทำหรืออาจจะเคยทำแต่ไม่รู้จัก บางคนเห็นแค่คนอื่นๆ ทำท่าย่อลงแล้วเห็นเข่างอนิดหน่อย เขาก็เข้าใจและทำไปตามภาพที่ตนเห็น แต่อาจจะไม่เข้าใจทั้งหมดว่าต้องเริ่มและจบอย่างไร การเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ต้องประมาณไหน เน้นออกแรงที่กล้ามเนื้อส่วนใด

Physical Problem

กรณีนี้ด้วยปัญหาทางร่างกายของแต่ละคนมาไม่เหมือนกัน เนื่องด้วยท่า Squat นั้นเองเป็นท่าที่เกิดการเคลื่อนไหวที่ Joint หลัก ๆ อยู่ 3 จุด ได้แก่ Hip, Knee, Ankle (ถ้าดูเฉพาะ Lower extremity) การแก้ไขปัญหาทางร่างกาย ก็อาจจะใช้เวลานานกว่ากรณีแรก

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ฝึกเองว่าจะมีปัญหาที่ใดบ้าง แต่ละที่ร้ายแรงขนาดไหน ความรุนแรงของอาการและจำนวนข้อต่อที่เป็นปัญหาก็จะส่งผลต่อระยะเวลาการฝึกและการรักษาด้วยเช่นกัน แล้วถ้าเกิดว่ามีปัญหาในส่วนลำตัวช่วงบนร่วมด้วย (Upper body part) ระยะเวลาก็จะถูกยืดออกไปอีกครับ

สุดท้ายนี้ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้จะทำ Squat ไม่ได้ เพียงแต่อาจเพราะมีปัญหาทางร่างกาย จนทำท่าได้ไม่ดี

แล้วเรา Squat ไม่ได้ เป็นเพราะกรณีไหนกัน

เบื้องต้น เราอาจจะลองหาข้อมูล วิธีการสอนทำท่า Squat แล้วแก้ไขท่าทางดูก่อน แล้วฝึกไปเรื่อยๆ หากยังแก้ไขท่าทางให้ถูกต้องไม่ได้ หรือมีอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม หรือเกิดขึ้นใหม่

ถึงจุดนี้อาจจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โค้ช เทรนเนอร์ หรือนักกายภาพบำบัด ให้ช่วยหาคำตอบ

แล้วเป็นไปได้มั้ยที่เราจะเข้าข่ายทั้ง 2 กรณี คำตอบคือเป็นไปได้ครับ

ทั้ง 2 กรณี หากดูจากวิธีการแก้ไขแล้ว ปัญหาทางร่างกาย เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขมากกว่า

เพราะว่ากรณีแรกเราแค่ทำ Squat ไม่เป็นเราก็แค่ฝึกให้ทำได้ จะเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำ “มีเพียงการฝึก” เท่านั้น แต่อย่างกรณีหลังเราจะต้องแก้ปัญหาทางกายให้ดีขึ้นในระดับที่เราสามารถทำ Squat ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ซึ่งอาจจะยังสามารถฝึก Squat ไปด้วยก็ได้

สุดท้ายแล้ว เราจะต้องสามารถแก้ไข ให้เราสามารถทำท่า Squat ซึ่งจำเป็นทั้งในการออกกำลังกาย และในชีวิตประจำวัน สามารถควบคุมร่างกาย กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ที่ต้องใช้ในท่าๆ นี้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้ท่า Squat ในกิจกรรมใดบ้าง ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

WRITTEN BY