เมื่อเรานึกถึงการวิ่งเพื่อออกำลังกาย เพื่อสุขภาพ ลดไขมัน เราจะคิดถึงการวิ่งช้าๆ จ๊อกกิ้งไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้จักและเริ่มทำได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วการฝึกวิ่งให้เร็วกว่า ระยะทางสั้นกว่า หรือที่เรียกว่าการวิ่งสปรินท์ก็มีประโยชน์และส่งผลดีต่อร่างกายไม่แพ้กัน มีอะไรบ้างลองมาดูกันครับ
ประโยชน์ของการฝึกวิ่งสปรินท์
1. พัฒนาสมรรถภาพทางกีฬา
การวิ่งสปรินท์สามารถช่วยเพิ่มพัฒนาอัตราเร่งและความเร็วสูงสุดในการวิ่ง เรียกได้ว่ายิ่งฝึกยิ่งเพิ่มครับ และยังเป็นพื้นฐานของกีฬาหลาย ๆ ที่มีรูปแบบของการตบ ตี หรือเคลื่อนที่เร็ว ๆ เพราะฉะนั้นอาจมีการนำการฝึกวิ่งสปรินท์ไปวางแทรกในโปรแกรมฝึกสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง ก็เป็นอีกทางนึงในการเพิ่มความหลากลายในการฝึกและช่องทางใหม่ ๆ ในการเพิ่มสมรรถภาพได้ครับ
2. เพิ่มการเผาผลาญไขมันด้วยการวิ่งสปรินท์
หากเราวางรูปแบบการฝึกเป็นเซ็ท ๆ และมีการพักช่วงสั้น ๆ ระหว่างเซ็ท แน่นอนว่าการฝึกจะถูกจัดอยู่ในรูปแบบ HIIT (High intensity interval training) หรือที่เรียกว่าการฝึกหนักสลับเบา
การฝึกในรูปแบบนี้จะมีกระบวนการเผาผลาญที่สูง เพราะในขณะฝึกร่างกายจะมีการใช้ออกซิเจนในปริมาณสูงซึ่งร่างกายจะไม่สามารถทดแทนได้ทันร่างกายจึงต้องใช้พลังงานที่สะสมในร่างกายและกล้ามเนื้อควบคู่ไปด้วย
ทำให้หลังจากที่เราฝึกในรูปแบบ HIIT จบแล้วเรายังมีอาการหายใจหอบหนักและรู้สึกตัวร้อนเหมือนตอนที่ฝึกอยู่ เพราะร่างกายต้องเอาออกซิเจนไปสร้างพลังงานเพื่อชดเชยกับที่ใช้ไป กระบวนการนี้มีชื่อเรียกว่า EPOC จึงเป็นที่มาของการเผาผลาญไขมันอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะหยุดออกกำลังกายไปแล้วนั่นเองครับ
3. ช่วยเพิ่มการพัฒนาของกล้ามเนื้อ
การสปิ้นเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า-หลัง ก้น น่อง อย่างมาก ถึงแม้จะเป็นการออกกำลังกายคนแบบการการทำ Squat และ Deadlift สาเหตุเพราะการฝึกวิ่งสปรินท์นั้นทำให้เกิดกลไกบางอย่างต่อการพัฒนากล้ามเนื้อ โดยแบ่งเป็นผลทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ครับ
- ผลทางตรง – ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ Fast twitch (โดยเฉพาะที่ขา) เนื่องด้วยกล้ามเนื้อชนิดนี้เป็นกล้ามเนื้อที่จะพัฒนาแรงแปรผันตรงกับขนาดของกล้ามเนื้อครับ จึงเป็นสาเหตุให้เมื่อเราฝึกออกกำลังกายในลักษณะที่มีความรวดเร็วจึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาขนาดของกล้ามเนื้อด้วยนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือรูปร่างของนักวิ่งระยะสั้น กับนักวิ่งระยะไกลที่ถึงแม้จะเป็นกีฬาประเภทเดียวกันแต่ตัวนักกีฬาก็มีรูปร่างที่แตกต่างกันครับ
- ผลทางอ้อม – ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน เนื่องจากร่างกายจะมีกลไกธรรมชาติหลังจากที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก คือมีการสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มขึ้น เพิ่มระดับ testosterone hormone และ Growth hormone
ซึ่งการเพิ่มระดับฮอร์โมนนี้เองส่งผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของร่างกาย ที่นอกจากจะส่งผลต่อการพัฒนากล้ามเนื้อขาแล้วยังช่วยกระตุ้นให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายพัฒนาขึ้นด้วยครับ
4. วิ่งสปรินท์ช่วยให้ร่างกายแก่ช้า
ระบบร่างกายและกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของเราจะมีการเสื่อมสภาพไปพร้อม ๆ กับอายุที่มากขึ้น รวมถึงกล้ามเนื้อประเภท Fast twitch ด้วย การฝึกที่มีความเข้มข้นสูงอย่างเช่นการฝึกวิ่งสปรินท์จะคงช่วยรักษากล้ามเนื้อเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่หรือลดลงช้ากว่าปกติครับ
อีกทั้งการวิ่งสปรินท์นั้นจัดว่าเป็นการออกกำลังกายแบกน้ำหนักรูปแบบหนึ่งที่ใช้ขาทีละข้างและยังเกิดแรงสะเทือนต่อร่างกาย ดังนั้นจึงส่งผลกระตุ้นให้ระบบกระดูกแข็งแรงขึ้น โดยที่มีแรงกระตุ้นมาจากแรงกระแทกที่เกิดขณะวิ่งและการใช้งานที่หนักหน่วง และยังส่งเสริมระบบประสาทและการบาลานซ์ของเราด้วยครับ
5. ช่วยพัฒนา Vo2max
ด้วยความที่จัดเป็นการออกกำลังกายรูปแบบคาร์ดิโอ อีกหนึ่งข้อดีของการปริ้นนั่นคือทำให้ปอดมีสุขภาพดีและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างที่บอกไปการวิ่งสปรินท์เป็นการออกกำลังกายรูปแบบ HIIT หมายความว่าต้องมีความหนักหน่วงเข้มข้นสูงมาก สิ่งนี้เองก็จะส่งผลให้ร่างกายต้องใช้พลังงานเยอะขึ้นและหายใจถี่ขึ้น ดังนั้นปอดและร่างกายของเราจึงต้องพัฒนาและปรับตัวให้มีประสิทธิภาพในการหายใจและดูดซึมออกซิเจนขึ้นด้วยเช่นกัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายและปอดของเราพัฒนาขึ้นจริง ๆ ? ร่างกายของเราต้องการออกซิเจนในการออกฟังก์ชันท่าทางต่าง ๆ ยิ่งโดยเฉพาะในตอนออกกำลังกาย ไม่อย่างนั้นร่างกายจะเริ่มรู้สึกร้อนและอ่อนล้าอย่างรวดเร็ว
โดยหากเรายังฝึกซ้อมสม่ำเสมอเป็นปกติ แล้วยังเกิดอาการดังกล่าวก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่าโปรแกรมฝึกของเรามีปัญหาหรือเปล่า หรือร่างกายของเรามีความผิดปกติกันแน่
คำแนะนำก่อนเริ่มฝึกวิ่งสปรินท์
1. ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป
การวิ่งสปรินท์เป็นการออกกำลังกายที่ใช้ความเร็วและความเร่งสูง แต่การที่เราใส่เต็มแรงในวันแรก ๆ ก็ไม่ใช้สิ่งที่ดี ถึงแม้นี่จะเป็นการฝึกที่ต้องใช้ความเร็วแต่ก็ต้องการความใจเย็นเช่นกันครับ
ดังนั้น หากเป็นมือใหม่หรือคนออกกำลังกายทั่วไปควรค่อย ๆ เพิ่มความเร็ว ระยะทางหรือเวลาวิ่ง และโฟกัสไปที่การฝึกให้ครบทั้งโปรแกรมมากกว่าทำให้หนักจะดีกว่าครับ เพราะเราไม่ได้ฝึกไปแข่งกับใครอยู่แล้ว
2. วอร์มเยอะ ๆ
การวิ่งในลักษณะนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจะมีการใช้กล้ามเนื้อและพลังงานจำนวนมาก ดังนั้นการวอร์มเพื่อเพิ่มระดับอุณหภูมิกายและกล้ามเนื้อให้สูงขึ้นจะช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ และยังเป็นการส่งสัญญาณบอกร่างกายให้พร้อมกับการออกกำลังกายด้วยครับ
แนะนำให้ทำการเดินเร็ว ๆ หรือวิ่งเหยาะ ประมาณ 5-10 นาที พร้อมกับยืดกล้ามเนื้อแบบค้างไว้ (Static stretch) ประมาณ 1-2 วิ ต่อท่า จากนั้นต่อด้วยยืดแบบเฉพาะเจาะจงกับท่าวิ่ง (Specific stretch) แบบช้า ๆ เป็นใช้ได้ครับ
อาจเสริมด้วยท่า standing sprint-arm action หรือ high-knee walking หรือ drills ของท่าวิ่งอื่น ๆ ก่อนการวิ่งจริงอีกครั้งนึงก็จะดีมากครับ
3. เตรียมใจให้พร้อมสำหรับอาการปวด
อาการปวดและเมื่อยจากการฝึกจะตามมาในอีก 1-2 วันอย่างแน่นอน แต่สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับการฝึกแบบใหม่ ๆ อยู่แล้วครับ เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการสร้างและปรับตัวให้เข้ากับการออกกำลังกายรูปแบบใหม่นั่นเอง
วิธีที่จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้บ้าง คือเราต้องมีการเตรียมร่างกายของเราดี ๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำข้อ 1 และ 2 อย่างเคร่งครัด และหลังจากฝึกเสร็จทุกครั้งควรวิ่งเหยาะ ๆ และยืดกล้ามเนื้อช่วงล่างเยอะ ๆ จะลดอาการปวดได้มากกว่าฝึกเสร็จแล้วหยุดทันทีครับ แต่ถึงแม้จะช่วยได้ก็ควรเตรียมใจเผื่อไว้บ้างเพราะอย่างไรก็ตามทุกคนต้องเผชิญอาการปวดอย่างแน่นอนครับ 😉