การฝึกความแข็งแรง (Strength Training), การฝึกด้วยแรงต้าน (Resistance Training), การฝึกด้วยน้ำหนัก (Weight Training) ทั้ง 3 คำนี้ คือการฝึกที่คล้ายคลึงกันมาก และใครหลายคนเรียกง่ายๆ กันว่า “เล่นเวท” “ยกเวท”
ทั้ง 3 คำนี้หมายความไปถึงกิจกรรมเดียวกัน คือการใช้แรงต้านภายนอกอะไรก็ตามแต่มาฝึกให้เกิดผลการเปลี่ยนร่างกาย ให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น แต่ถ้าเพื่อให้ครอบคลุมทั้งหมดจริงๆ คำว่า Resistance Training ก็เป็นคำที่เหมาะสมที่สุด แต่ในบทความนี้ อาจจะขอใช้คำว่า ยกเวท สลับกันไป กับคำว่า การฝึก Resistance Training เพื่อให้ภาษาดูอ่านง่ายมากขึ้นนะครับ
การฝึก Resistance Training มักเป็นกิจกรรมที่หลายคนมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นคนธรรดาทั่วไป หรือนักกีฬาเอง ด้วยความเชื่อมากมายที่สะสมกันมา ว่าการยกเวท อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ในหลากหลายแง่มุม เดี๋ยวกล้ามใหญ่ไปบ้าง เดี๋ยวบาดเจ็บบ้าง เดี๋ยวตัวเตี้ยบ้าง
ยิ่งเป็นนักกีฬาแล้ว โดยเฉพาะนักกีฬาประเภท Endurance ที่หลายคนก็แทบจะไม่ได้แตะเวทเลย ที่อาจจะคิดไปว่ากีฬาที่เราเล่น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยกเวท หรืออาจจะมีการฝึกแต่ฝึกแค่ Bodyweight แค่น้ำหนักตัวเราก็พอแล้ว
ผมมี 5 ความเชื่อที่คนมักเข้าใจผิด มาแชร์ให้อ่านกันครับ ว่า Resistance Training หรือการยกเวทเนี่ย มีประโยชน์กับนักวิ่งมากๆ และไม่ได้เป็นอย่างที่เชื่อกันเลยแม้แต่น้อย
1. ยกเวทจะทำให้กล้ามใหญ่
“LIFTING WEIGHTS WILL MAKE ME PUT ON MUSCLE”
สำหรับใครหลายคน ไม่ใช่แค่นักวิ่ง ที่เมื่อนึกถึงการยกเวท ก็จะนึกถึงผู้ชายกล้ามใหญ่ เหมือนนักเพาะกาย หุ่นนายแบบ กล้ามชัดๆ หุ่นลีน ผุดขึ้นมาในหัว ดังนั้นมันเป็นอะไรที่เข้าใจได้ว่า นักวิ่งหลายคน ก็ไม่อยากที่จะเล่นเวท ฝึกความแข็งแรง ไม่เอาโปรแกรมการฝึก Resistance Training ใส่เข้าไปในแต่ละสัปดาห์ เล่นเวทไปมันจะช่วยอะไร ยิ่งทำให้กล้ามขึ้นตัวหนัก แล้วก็จะวิ่งช้าลงหรือป่าว
• Same Means but Different Method
จากหนังสือ Strength and Conditioning for Endurance Running Richard Blagrove ได้อธิบายเอาไว้ว่า
The best way to sum up the difference between the use of resistance training for aesthetic purposes, and how it should be used to improve running performance, is ‘same means, different method’.
ก็คือ การฝึก Resistance Training หรือที่เราเรียกันง่ายๆ ว่ายกเวท
ความแตกต่างระหว่างการยกเพื่อความสวยงาม กล้ามใหญ่ กับยกเพื่อพัฒนา Running Performance เนี่ย มันคือ ‘same means, different method’. เป็นการยกเวทเหมือนกัน แต่ต่างกันที่วิธีการ
พูดให้ง่ายขึ้น ขยายความหน่อยก็คือ คนเล่นเวทเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ กับฝึกความแข็งแรงของนักกีฬา ก็จะใช้ท่าฝึก ท่าออกกำลังกายต่างๆ ที่เหมือนกันแทบทุกท่า แต่จริงๆ แล้วมันมีความแตกต่างกัน เมื่อเรามาพิจารณาถึงวิธีการใช้ท่าเหล่านั้น การโค้ช และการวางโปรแกรม
เมื่อเราต้องการยกเวทเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะเน้นที่กล้ามเนื้อแต่ละส่วนและพยายามกระตุ้นเส้นใยภายในกล้ามเนื้อนั้น ตามมาด้วยการกินอาหารที่เพียงพอ กล้ามเนื้อก็จะตอบสนองด้วยการเพิ่มขนาดของมัน ทำให้เมื่อดูจากภายนอก ก็จะดูว่ากล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น
การฝึกลักษณะนี้ต้องการแนวทางที่มุ่งเน้นในการฝึกส่วนต่างๆ ของร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องใช้ปริมาณการฝึกที่มาก ที่กระจายไปตลอดสัปดาห์ ส่วนปริมาณและความถี่ของการฝึกสำหรับนักกีฬาที่จำเป็นในการ Performance นั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่กล้ามจะใหญ่ขึ้นแบบนักเพาะกาย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
การฝึกความแข็งแรงของนักกีฬาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก Strength and Conditioning แนวทางปฏิบัติในการฝึก S&C แตกต่างกันมาก เพื่อให้เราวิ่งได้ดีขึ้น ระบบประสาทของเราจะต้องสร้างแรงในระดับที่สูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนา Performance ลักษณะนี้ เราจะไปที่การฝึก Movement ฝึกเคลื่อนไหวมากกว่ากล้ามเนื้อ
เพราะระบบประสาทของคุณจะไม่รู้จักว่ากล้ามเนื้อแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่หรือเล็ก แข็งแรงหรืออ่อน แต่จะพัฒนาแรงผ่านรูปแบบการเคลื่อนไหวของแขนขาที่ประสานกันซึ่งได้รับการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การพัฒนาระบบประสาทเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการยกเวทในนักกีฬา ระบบประสาทจะไม่ได้สนใจว่ากล้ามเนื้อเราจะใหญ่หรือเล็ก แข็งแรงหรืออ่อนแอ แต่ระบบประสาทจะพัฒนาการออกแรงของกล้ามเนื้อนั้นๆ ผ่านรูปแบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย แขนขา จากการฝึก Resistance Training ในท่าต่างๆ
• The Interference Effect
อีกหนึ่งเหตุผลคลาสสิกที่ทำให้นักวิ่งก้าวข้ามมาผ่านมายกเวทไม่ได้ คือการที่จะต้องยกเวทด้วย ฝึกวิ่งไปด้วย ผลจากการยกเวทจะทำให้เราวิ่งได้แย่ลง แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จากการศึกษาเป็นร้อยเป็นพัน พบแล้วว่า ถ้าโปรแกรมของเรา มีการฝึกเวท ยกเวท ฝึกความแข็งแรงไปพร้อมๆ กับการฝึก Endurance หรือในบริบทนี้ก็คือ ฝึกวิ่งทางไกล กลายเป็นว่า Endurance จะได้ประโยชน์จากการยกเวทมากกว่าด้วยซ้ำไป
การจะทำให้กล้ามใหญ่ขึ้น ทำให้เกิด Hypertrophy ในขณะที่มีการฝึก Endurance Training ไปด้วย กลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะการปรับตัวของร่างกายที่เรามองไม่เห็นนั้น จะเกิดปรับตัวสารเคมีในระดับเซลล์ที่มีผลยับยั้งการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ
ด้วยอัตราส่วนของการฝึกความแข็งแรงต่อการฝึกความอดทนที่เราจะออกแบบไว้ในโปรแกรมของเรา มีความเป็นไปได้สูงที่การฝึกความอดทนจะป้องกันไม่ให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
การศึกษาเกี่ยวกับผลของการฝึก Weight Training ในนักวิ่งหลายๆงาน มีผลการศึกษาไปในทางบวกเหมือนๆ กัน ว่าทำให้ Endurance Performance ดีขึ้น และไม่มีงานไหน ที่พบว่า หลังจากการยกเวทแล้ว นักวิ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น การฝึกความแข็งแรงจึงเป็นที่แนะนำ และจำเป็น
แสดงให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้จากการฝึกความแข็งแรงนั้นเป็นผลมาจากการปรับตัวทางระบบประสาท จึงทำให้กลไกการเคลื่อนไหวดีขึ้น กล้ามเนื้อออกแรงได้ดีขึ้น ประสานการทำงานได้ดีขึ้น ทำให้คุณภาพในการออกแรงในการวิ่งดีขึ้น โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อแต่อย่างใด
KEY INFORMATION
“สำหรับนักวิ่งทางไกลแล้ว การยกเวทไม่น่าจะเพิ่มมวลกล้ามเนื้อของคุณได้มากนัก นักเพาะกายอาจใช้ท่าฝึก ท่าเวทที่คล้ายคลึงกันกับ Strength Coach S&C แต่การออกแบบโปรแกรมฝึก และรูปแบบการใช้ท่าฝึกเหล่านั้นแตกต่างกันอย่างมาก”
2. ยกเวทจะทำให้เราบาดเจ็บได้
“WEIGHT TRAINING CAUSES INJURY”
นักกีฬาหลายคน อาจจะรู้สึกว่าการฝึก Resistance Training มันอันตราย เพราะเราต้องยกอุปกรณ์หนักๆ ดัมเบล บาร์เบลต่างๆ ที่นักวิ่งเองไม่คุ้นเคย แต่จริงๆ แล้ว อันตรายที่เกิดจากการเล่นเวทจริงๆ นั้นคือเทคนิคในการยก ในการเล่นท่าฝึกต่างๆ
นักวิ่งและโค้ชมักกลัวว่าการยกเวทจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บ อาจเป็นเพราะการเพิ่มน้ำหนักจากภายนอกให้กับร่างกายทำให้เกิดแรงกระทำกับกล้ามเนื้อและข้อต่อซึ่งนักวิ่งไม่คุ้นเคย แต่จริงๆ แล้วเพียงแค่ทำท่าฝึกโดยไม่คำนึงถึงเทคนิคที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้ข้อต่อมีภาระมากเกินไปได้เช่นกัน โดยที่ยังไม่ต้องถือนำ้หนัก หรือยกอะไรหนักๆ เลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ฝึกฝนเทคนิคท่าฝึกต่างๆ ให้ถูกต้อง ก่อนที่จะเพิ่มน้ำหนักใดๆ หากคุณสามารถรักษาฟอร์มไว้ได้ตลอดทั้งเซ็ต ความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บก็น้อยลง ท่าฝึกต่างๆ ที่สำคัญก็จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น Squat, Step Up, Lunge, Push, Pull ซึ่งเป็นรากฐานของทักษะที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การวิ่ง
• ความเสี่ยงเมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆ (Relative Risk Compared to Other Sports)
การฝึก Resistance Training ถ้ามาพิจารณาดูกันจริงๆ แล้ว
การฝึก Resistance Training ทั้งในรูปแบบฝึกเพื่อสุขภาพและสมรรถภาพกีฬามีความเสี่ยงต่ำมากที่จะได้รับบาดเจ็บ เมื่อเทียบกับกีฬาที่มีการปะทะอื่น ๆ จากการสำรวจหนึ่งครั้งพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บเพียงสองถึงสี่รายต่อทุกๆ 10,000 ชั่วโมงของการฝึก Resistance Training ในขณะที่สำหรับนักวิ่ง Cross-country การสำรวจรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บประมาณ 37 คนต่อการฝึกทุกๆ 10,000 ชั่วโมง
แม้ว่าจะดูไม่เป็นเช่นนั้น แต่แรงที่ร่างกายได้รับระหว่างการฝึก Resistance Training นั้นน้อยกว่าแรงกระแทกที่พบในกีฬาอื่นๆ มากมาย ดังนั้นเมื่อคุณวิ่งแรงที่ข้อต่อของคุณสัมผัส ทุกครั้งที่เท้าแตะพื้น แรงกระแทกจะสูงกว่าการฝึก Resistance Training
นอกจากนี้ ทักษะการเคลื่อนไหวที่จำเป็นสำหรับการวิ่งและเล่นกีฬาอื่นๆ ส่วนใหญ่นั้นซับซ้อนกว่าเทคนิคที่ใช้ในการฝึก Resistance Training อย่างมาก แม้ว่าช่วงแรกคุณสับสน หรือยังทำท่าฝึกไม่ค่อยถูก แต่แรงที่ส่งผลต่อร่างกายของคุณ จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บมากนัก เมื่อเทียบกับแรงกระแทกซ้ำๆ ที่คุณพบเมื่อวิ่งระยะไกล ดังนั้นการฝึก Resistance Training จึงเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่ง
• กลไกการป้องกันตามธรรมชาติ (Natural Mechanisms offer Protection)
เมื่อพูดถึงการฝึก Resistance Training ร่างกายมีกลไกป้องกันตามธรรมชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เราบาดเจ็บ เซ็นเซอร์ป้องกันเหล่านี้อยู่ลึกเข้าไปในกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อเรียกว่า ‘ Proprioceptors’
Golgi tendon organs หนึ่งใน Proprioceptor ที่สำคัญ มีหน้าที่ในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ตำแหน่งของ Golgi tendon organs จะอยู่ที่จุดยึดระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก
Proprioceptors เหล่านี้ส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อบอกเราว่ากล้ามเนื้อมี Tension มากน้อยเพียงใด เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายเรารับภาระหนักตรงนั้นไม่ไหว มันจะส่งสัญญาณไปที่สมอง ให้กล้ามเนื้อคลายตัวหยุดการทำงานไป ก่อนที่จะถึงจุดที่กล้ามเนื้อจะได้รับความเสียหาย
อาการบาดเจ็บจากการวิ่งส่วนใหญ่เกิดจาก Training Loads สะสมที่ Lower Body จึงอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่า ถ้าต้องไปยกเวทอีก จะทำให้เสี่ยงบาดเจ็บ แต่สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงประโยชน์ของการฝึกความแข็งแรง อาการบาดเจ็บมักเกิดจากเคลื่อนไหวซ้ำๆ หากการเคลื่อนไหว/ท่าทางไม่ดีหรือกล้ามเนื้อมีความทนทานต่อ Training Loads ต่ำ การบาดเจ็บแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าเราฝึกความแข็งแรง ฝึกด้วยเทคนิคที่ถูกต้องและในปริมาณที่เหมาะสม เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เราเคลื่อนไหว/ท่าทางที่ถูกต้องมากขึ้น และทำให้กล้ามเนื้อข้อต่อต่างๆ รับภาระได้มากขึ้น ดังนั้นมันจึงป้องกันการบาดเจ็บได้
KEY INFORMATION
เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมกีฬาอื่นๆ แล้ว การยกเวทมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บต่ำกว่า แล้วยังช่วยพัฒนาคุณภาพการเคลื่อนไหว ทำให้กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อแข็งแรง ซึ่งจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจจะเกิดขึ้นในระยะยาวได้อีกด้วย
3. ยกเวทจะทำให้เราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้
“LIFTING WEIGHTS WILL LEAVE ME WITH EXCESSIVE MUSCLE SORENESS”
นักวิ่งหลายคนมีความรู้สึกกลัวที่จะเล่นเวทเพราะด้วยผลของมันหลังจากเล่นไป 2-3 วัน อาจมีอาการปวดเมื่อยหลังออกกำลังกาย ซึ่งทำให้ไปส่งผลต่อ Session การวิ่งอีกทีหนึ่ง
DOMS หรือ Delayed onset muscle soreness คืออาการปวดเมื่อยจากการออกกำลังกาย ที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อในลักษณะ Eccentric Contraction จากท่าฝึกต่างๆ ที่ร่างกายยังไม่คุ้นชิน ไม่ว่าจะจากท่าฝึกใหม่ๆ หรือน้ำหนักที่ใช้ที่เพิ่มขึ้น
ความรู้สึกปวดเมื่อย (Soreness) ที่เรารู้สึกนั้น เป็นผลมาจากความเสียหายของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อในระดับที่มองไม่เห็น เลยทำให้เรารู้สึกเจ็บ เวลาเราเคลื่อนไหว เวลาเราเกร็งกล้ามเนื้อนั้นๆ
DOMS ไม่ใช่กล้ามเนื้ออักเสบ ความเสียหายที่เกิดกับเส้นใยกล้ามเนื้อไม่ได้ร้ายแรงเหมือนกับอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และหลักฐานการศึกษาวิจัยมากมาย ก็พบว่า DOMS ไม่ได้ส่งผลทางลบอะไรกับ Endurance Performance
อาการ DOMS ก็มีระยะเวลาสั้น ช่วงพีคที่จะรู้สึกปวดเมื่อยที่สุด ก็อยู่ที่ประมาณ 24 – 48 ชม. หลังจาก Session นั้นๆ แล้วก็จะหายไปได้เองอีกภายใน 1-2 วัน ซึ่งเมื่อเราเริ่มมีการฝึกยกเวทจนเข้าที่เข้าทางสม่ำเสมอ อาการก็จะยิ่งเกิดน้อยลงไปอีกเรื่อยๆ
• ท่าใหม่ ความหนักใหม่ ทำให้เราปวดเมื่อย (New Exercise Cause Soreness)
นักวิ่งส่วนใหญ่ คุ้นเคยกับรูปแบบการเคลื่อนไหวของการวิ่ง คุ้นเคยกับ Training Loads ที่เกิดขึ้นกับขา ด้วยความคุ้นเคยนี้ จึงไม่ได้ทำให้นักวิ่งไม่รู้สึกมีอาการปวดเมื่อย หรือ DOMS มากในแต่ละวัน
แต่การยกเวท ถือเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ และมีน้ำหนักที่จะต้องใช้ฝึกแตกต่างจากการวิ่ง นั้นเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิด DOMs ท่าทางการวิ่ง เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จำกัดการเคลื่อนไหวอยู่เพียงไม่กี่มุม
แต่การเล่นเวท หรือการฝึก Strength and Conditioning รูปแบบอื่นๆ เป็นการเคลื่อนไหวมากกว่าท่าทางการวิ่ง เพื่อให้ร่างกายได้ขยับไปให้ทิศทางที่ไม่เคยขยับ ให้กล้ามเนื้อได้ทำงานในมุมอื่นๆ บ้าง รวมไปถึงต้องมีการใช้น้ำหนักที่เหมาะสม จึงจะเกิดการพัฒนาความแข็งแรง นั้นจึงทำให้เกิดอาการ DOMS ได้ในที่สุด
KEY INFORMATION
คุณอาจจะรู้สึกถึงการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากยกเวทไป 1-2 วัน อย่าตกใจไป นั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เป็นการปรับตัวของร่างกายโดยปกติ และไม่ได้ส่งผลต่อ running performance ของคุณ หากรู้สึกตึง เมื่อย ให้ Warm Up ให้นานขึ้น และอย่าลืมยืดเหยียดหลังวิ่งด้วย
DOMS มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นมากกว่าสำหรับนักวิ่งทางไกล เนื่องจากการยกเวทกำลังฝึกให้กล้ามเนื้อทำงานในน้ำหนัก ท่าทางการฝึกหรือ Training Loads ที่ไม่คุ้นชิน ดังนั้นอาจเริ่มฝึกที่น้ำหนักเบาๆ ให้ร่างกายคุ้นชินกับรูปแบบการเคลื่อนไหว ให้ทำเทคนิคได้ถูกต้องก่อน
ถ้าเราเกิดปวดเมื่อยยกเวท ในทุกๆ Session นั้นอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังหักโหมเกินไป อาจจะต้องมีการออกแบบโปรแกรมให้มีวันเบาๆ วันหนักให้เหมาะสม อาการปวดเมื่อยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวของร่างกายโดยปกติเท่านั้น จึงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ยกเวทเพียงเพราะมันทำให้เราปวดเมื่อย
4. อยากจะวิ่งเร็วขึ้น ก็ต้องฝึกวิ่งอย่างเดียว
“TO RUN FASTER ALL MY TRAINING TIME WOULD BE BEST SPENT RUNNING”
เราน่าจะคุ้นเคยกับหลักการการฝึกแบบเฉพาะเจาะจง ว่าฝึกอะไรได้แบบนั้น อยากวิ่งให้ดีขึ้น ก็ฝึกวิ่งไปเรื่อยๆ
วิ่ง Interval หรือ Tempo เพื่อพัฒนา Pace ในการวิ่งให้เร็วขึ้น ให้ใกล้เคียงกับ Pace ที่จะใช้แข่ง
หรือถ้าเราอยากจะวิ่งให้ไกลขึ้น ก็ต้องค่อยๆ เพิ่มเวลา เพิ่มระยะทาง เราก็จะวิ่งได้นานขึ้น
เมื่อเราอยากจะวิ่งให้ดีขึ้น แน่นอนว่าตรรกะง่ายๆ เลยก็คือ เราก็ต้องมีการฝึกวิ่งเพิ่มเติม นอกเหนือจากโปรแกรมที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็น Session ที่เน้นความเร็วเฉยๆ หรือวิ่งไปให้นาน ให้ทนขึ้นไปอีก อาจจะฝึกเกินระยะของเราไป หรือต่ำกว่าระยะที่เราแข่งจริงใดๆ ก็ตามแต่
• จะวิ่งได้ดีขึ้น ต้องไม่วิ่งแค่อย่างเดียว
แน่นอนว่า การฝึกตามโปรแกรมวิ่งอย่างเดียวจะมุ่งเน้นพัฒนาสมรรถภาพให้เราทนทานขึ้น วิ่งได้นานขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์ แต่ในบางจุด เราจะต้องเริ่มพิจารณาว่าเราจะรับ Training Loads เหล่านั้น ที่จะมากขึ้นอย่างไร เพื่อให้เราไม่เจ็บ และพัฒนาการวิ่งของเราได้
ท้ายที่สุด เราก็จะต้องพยายามปรับโปรแกรมวิ่งของเรา ให้หยุดบ้าง พักบ้าง ไปทำอย่างอื่นๆ แทนบ้าง หรือมีการไปฝึก Strength and Conditioning ไปยกเวท ไปยืดเหยียดให้มากขึ้น เพิ่มเติม ซึ่งนี้เป็นตัวเลือกที่คนเลือกน้อยที่สุด
เป็นเรื่องปกติมากที่จะเจอนักกีฬาและโค้ชระดับ Elite จะไม่ยอมลดวันซ้อมวิ่งหรือ Session วิ่งลด เพื่อที่จะฝึกยกเวทแทน ไม่ว่าโค้ชกีฬาไหนๆ ก็จะเป็นเหมือนๆ กัน
หรือนักวิ่งสมัครเล่นเอง ที่ต้องทำงานประจำมีเวลาน้อย ก็ยิ่งจะให้เวลากับการวิ่งมากที่สุด เพราะด้วยเวลาจำกัด ไม่ค่อยมีเวลา เพราะฉะนั้นเวลาที่ว่าง ก็จะต้องเลือกที่จะวิ่ง
แต่อยากให้เหลียวมองทางนี้ซักนิดนึง
ความจริงแล้ว มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การกีฬามากมายที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการยกเวท ที่มีต่อ Endurance Performance ด้วยการออกแบบโปรแกรมอย่างเป็นระบบให้มีการฝึก Strength Training ร่วมไปกับการฝึกวิ่ง แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การฝึกวิ่งอย่างเดียว ไปดูกันตามภาพครับ
จากภาพด้านบน เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของ Endurance Performance
ฝั่งสีดำ คือ Endurance Training สิ่งที่นักวิ่งหลายคนกำลังทำอยู่ และมุ่งหน้าที่จะเพิ่มองค์ประกอบเหล่านี้ให้มากขึ้นในโปรแกรมฝึก ไม่ว่าจะเป็นการฝึก LSD, Tempo, Interval ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ คือการพัฒนาไปที่ระบบหัวใจหลอดเลือดและระบบพลังงานของร่างกายให้ทนทาน พัฒนาไปตรงตามกับกีฬาทางไกลต่างๆ
แต่ Endurance Performance ไม่ได้ใช้แค่องค์ประกอบเหล่านั้น เรายังต้องใช้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ระบบประสาทในการทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปได้ตลอดทาง
Strength and Conditioning โดยเฉพาะการฝึก Strength Training หรือฝั่งสีแดงตามภาพ จะมีบทบาทมาก ในการทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น รับน้ำหนัก รับแรงกระแทก และทนทานต่อระยะทางที่ยาวนานได้ และระบบประสาทเอง ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีขึ้น ทำให้การประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อและข้อต่อมีประสิทธิภาพ และส่งผลไปยัง Running Economy ที่ทำให้เราวิ่งประหยัดพลังงานได้มากขึ้นอีกด้วย
เพราะหลายคนก็น่าจะเคยประสบปัญหาการบาดเจ็บ ปัญหาที่พัฒนาการการวิ่งไม่ค่อยดีขึ้น วิ่งไปถึงจุดนึงก็ตัน วิ่งไม่เร็วขึ้น หรืออื่นๆ
นี่คือเหตุผลที่ทำไม อยากจะวิ่งเร็วขึ้น จึงฝึกวิ่งอย่างเดียวไม่ได้
KEY INFORMATION
คุณอาจลังเลที่จะสลับวันซ้อมวิ่งมาเป็นการยกเวทแทน หรือการที่จะต้องออกแบบโปรแกรมให้มีการฝึก Resistance Training เข้าไปด้วย แต่ผมรับรองว่าสิ่งนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า นั้นคือการมี Running Performance ที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงที่คุณจะได้รับบาดเจ็บในระยะยาว
5. นักกีฬา Endurance ต้องการ Muscular Endurance ไม่ใช่ Muscular Strength
“ENDURANCE PERFORMERS NEED MUSCULAR ENDURANCE NOT MUSCULAR STRENGTH”
ข้อนี้ก็คล้ายกับข้อที่แล้ว แต่เหมือนเป็นการขยายความและแยกย่อยลงไปในรายละเอียดอีก
ถ้านักวิ่งไม่ควรวิ่งอย่างเดียว ต้องฝึกความแข็งแรงด้วย ก็ควรฝึกให้กล้ามเนื้อทนทานมากกว่าที่จะแข็งแรงหรือป่าว
จริงอยู่ครับว่า นักวิ่งทางไกล ก็ต้องมีคุณสมบัติของกล้ามเนื้อ ที่ทำให้เราวิ่งได้นานและทนทานมากขึ้น
อย่างที่กล่าวไปแล้วในข้อที่แล้วครับ Endurance Performance ไม่ได้ต้องการแค่องค์ประกอบการฝึก Endurance Training เท่านั้น
• หลุมพรางความเฉพาะเจาะจง (The Specific Trap)
การฝึก Strength and Conditioning ไม่ได้เน้นหนักเจาะจงไปที่การพัฒนาความทนทานของกล้ามเนื้อ แค่คือการฝึกสมรรถภาพทางกายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา และถึงแม้จะเป็นนักกีฬาประเภท Endurance สมรรถภาพที่ต้องพัฒนาก็ไม่ได้มีแต่การทำทุกอย่างในทนทานไปซะทั้งหมด
สมรรถภาพที่สำคัญมากๆ กับนักกีฬาทุกประเภท ก็คือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือ Muscle Strength ที่เรารู้จักกัน เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของกล้ามเนื้อ ที่จะต่อยอดไปสู่สมรรถภาพอื่นๆ ได้อีกมากมาย Power, Endurance, Speed, Agility รวมไปถึงคุณภาพการเคลื่อนไหวของทักษะกีฬา
สำหรับการยกเวท เราจะเลือกท่าฝึกให้สอดคล้องกับท่าทางการวิ่งก็จริง แต่หน้าที่จริงๆ ของการยกเวท คือพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
ส่วนของความทนทานนั้นสำหรับนักวิ่ง เราจะใช้การวิ่งนั้นแหละ เป็นการฝึกที่เฉพาะเจาะจงที่สุดต่อการนำสมรรภาพอื่นๆ ที่ฝึกมา ไปใช้กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
ลองนึกภาพว่า ถ้าเราพยายามทำ Squats หลายร้อยครั้งติดต่อกันเพื่อให้ ‘เฉพาะเจาะจงมากขึ้น’ มันจะให้ประโยชน์อะไรมากไปกว่าการออกไปวิ่งหรือไม่
อย่าปล่อยให้คำว่า “ฝึกให้เฉพาะเจาะจง” มาครอบทุกสิ่ง เพราะมันไม่ได้เฉพาะเจาะจงแบบตรงไปตรงมาเสมอไป สำหรับนักวิ่งทางไกล อยากได้ความทนทานของกล้ามเนื้ออยู่แล้ว ให้ไปฝึกวิ่ง อยากได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ก็เลือกเข้าห้องยิมไปได้เลยครับ
KEY INFORMATION
เราจะฝึก Resistance training เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การฝึกความแข็งแรงเป็นเรื่องคุณสมบัติพื้นฐาน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้การฝึกมัน ‘เฉพาะเจาะจง’ มากกว่านี้ Use the right tools for the right job