หมอนรองกระดูกทับเส้น ปวดหลัง ปวดคอ ออกกำลังกายยังไงดี?

ภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังช่วงคอปลิ้นออกแล้วไปกดทับรากประสาท บางกรณีการบริหารร่างกายสามารถช่วยได้ และ 5 ท่าออกกำลังกายที่เราแนะนำ สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
Picture of Tham Thaiyanont, MS, CSCS
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
แยกอ่านทีละหัวข้อ

โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท คืออะไร

“โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท” มีชื่อเรียกยากๆ ว่า Cervical Herniated Disc เป็นภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังช่วงคอ (cervical) ปลิ้นออกไปทางด้านหลังหรือด้านข้าง แล้วไปกดทับรากประสาท

 

โดยแต่ละคนก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น

  • บางคนเป็นน้อยๆ ก็แค่ปวดคอ
  • บางคนเริ่มหนัก ก็จะมีปวดร้าวไปที่บ่าที่ไหล่ บางคนลงแขน ลงมือ เริ่มหนักขึ้นมาอีกก็จะมีชาปลายมือร่วมด้วย ขยับคอได้ยากมากขึ้นอีก
  • บางคนเป็นหนักสุดๆ เลย คือ เริ่มมีอาการอ่อนแรงของแขน มือ หยิบจับอะไรไม่ค่อยได้ดีเท่าเดิม
Cervical Herniated Disc
ภาพอธิบายอาการหมอนรองกระดูกปลิ้นและทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกคอเคลื่อน มีสาเหตุจากอะไร

สาเหตุหลักมาจากการที่มีน้ำหนักกดลงต่อกระดูกคอมากๆ

 

ในขณะที่คอมีการก้ม หรือบิดหมุน หรือการทำงานแล้วเราอยู่ในท่าก้มคอตลอดเวลา

 

อย่างในเคสคุณหมอยุน เป็นทันตแพทย์ ที่จะต้องก้มดูคนไข้ตลอดทั้งวัน ทำให้น้ำหนักคอก็กดลงโซนด้านหน้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้หมอนรองคอ เคลื่อนไปด้านหลังได้ง่าย

สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ภาพหมอยุนที่กำลังทำฟันและต้องก้มติดต่อกันเป็นเวลานาน

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการอย่างไร

เวลาหมอนรองคอเริ่มปลิ้นไปด้านหลัง จะไปกดทับโครงสร้างต่างๆ ด้านหลัง เช่น ไขสันหลัง รากประสาทคอ ทำให้ปวดคอ สะบัก หัวไหล่ หรือร้าวลงไปที่แขนได้เลย ตามแนวเลี้ยงของรากประสาทแต่ละระดับ

 

หมอยุน ใส่ Soft Collar หรือเฝือกอ่อนดามคอเอาไว้ เพื่อไปจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกคอบางส่วน

 

เช่น เวลาคุณหมอทำงานก้มคอ ก็จะไม่ได้ก้มสุด จนกล้ามเนื้อต้องเกร็งมากๆ หรือก้มจนมีอาการปวดคอ เจ้าตัว Soft Collar นี้ก็จะช่วยประคองไม่ให้กล้ามเนื้อทำงานหนักเกิน และไม่ให้ก้มเกินไปถึงจุดที่กระตุ้นอาการนั่นเอง

อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ภาพแสดงอาการหมอนรองกระดูกปลิ้นไปกดทับเส้นประสาท และทำให้มีอาการตามส่วนต่างๆ

ในช่วงแรกของการรักษา นอกจากพึ่ง Soft Collar แล้ว ถ้ามีอาการปวดหนักๆ คุณหมอที่ดูแลอาจจ่ายยาที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอาการปวด เช่น ยาลดอักเสบ ยาแก้ปวด ควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกาย

 

พอเริ่มพ้นระยะอักเสบ อาการปวดลดลงมาก จะต้องเข้าสู่ช่วงฟื้นฟู โดยออกกำลังกาย เพื่อให้คอสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

 

ซึ่งในคนที่อาการกลับมาปวดเรื้อรัง อาจจะเป็นเพราะข้อต่อยังขยับได้ไม่ดี กล้ามเนื้อบางมัดตึงหรืออ่อนแรงเกินไป ต้องพึ่งการบริหารร่างกายในการรักษา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และดูแลอาการปวดในระยะยาว

 

ในเคสหมอยุนเอง อาจจะเลยจุดที่มีการอักเสบ หรือปวดหนักๆ ไปแล้ว (สังเกตว่าทำงานได้ปกติ) แต่ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องก้มทำงานแบบนี้อยู่ตลอด เลยต้องอาศัย Soft Collar เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเคสแบบนี้จำเป็นต้องมีการบริหารร่างกายเข้ามาช่วยครับ

5 ท่าออกกำลังกายช่วยบรรเทาอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท จะไม่ได้เป็นการออกกำลังกายที่มีความหนักมากนัก แต่จะเน้นบริหารลำตัวช่วงบน รวมถึงฝึกการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะบริเวณสะบัก (scapular)

 

เพราะสะบักนั้นเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงของลำตัวช่วงบน ไม่ว่าจะตอนเคลื่อนไหวหรือการนั่งทำงานอยู่กับที่ก็ตาม

 

สำหรับ 5 ท่าช่วยบรรเทาอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นที่เราแนะนำมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยครับ

1) Band Scapular Retraction + Cervical Extension

กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อด้านหลัง ไปพร้อมๆ กับการยืดคอทางด้านหน้า

Band Scapular Retraction + Cervical Extension
ภาพสาธิตวิธีฝึกท่าออกกำลังกาย Band Scapular Retraction + Cervical Extension

2) Scapular Cat-Cow

กระตุ้นการทำงานของสะบัก ที่อาจจะถูกล็อคให้เคลื่อนไปทางด้านหน้าเป็นเวลานาน 

Scapular Cat-Cow
ภาพสาธิตวิธีฝึกท่าออกกำลังกาย Scapular Cat-Cow

3) Shoulder CARs

เป็นการฝึกเคลื่อนไหวของหัวไหล่ และสะบัก ให้ทำงานเป็นอิสระต่อกันได้ สามารถดูวิธีการฝึกแบบละเอียดได้ที่บทความ เทคนิค CARs คืออะไร

Shoulder CARs
ภาพสาธิตวิธีฝึกท่าออกกำลังกาย Shoulder CARs

4) Band Row

สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบักด้านหลัง และกล้ามเนื้อหลังส่วนบน ที่จะช่วยออกพยุงคอ ในขณะที่ก้มทำงาน

Band Row
ภาพสาธิตวิธีฝึกท่าออกกำลังกาย Band Row

5) Chin-in Cobra

สร้างความมั่นคงของกล้ามเนื้อสะบักด้านหลัง และกล้ามเนื้อหลังส่วนบน รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อคอให้สมดุลกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง 

Chin-in Cobra
ภาพสาธิตวิธีฝึกท่าออกกำลังกาย Chin-in Cobra

ดูแลตัวเองไม่ให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมากขึ้น

 ท่าทางหรืออิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกายที่กล่าวมา โดยเฉพาะท่าทางการนั่งทำงานที่ส่วนใหญ่จะค้างอยู่ท่าเดียวเป็นเวลานาน

 

เราสามารถป้องกันไม่ให้อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นมันมากขึ้นหรือให้มันเพิ่มขึ้นช้าที่สุด ด้วยการลดแรงกดต่อกระดูกช่วงคอ

 

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เราทำได้และควรทำ คือการขยับ เคลื่อนไหว ไม่ค้างท่าเดิมนานๆ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้อต่อที่เกี่ยวข้องมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจไม่เพียงแค่หมอนรองกระดูกคอ อาจเป็นส่วนอื่นหรือภาวะอื่นๆ ที่รุนแรงมากกว่าเกิดขึ้นตามมาได้เช่นกัน

WRITTEN BY